วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ม.44 ยกเลิกคนไทยกรอกใบ ตม.

ม.44 ยกเลิกคนไทยกรอกใบ ตม.

คสช.ออกมาตรา 44 อีก 3 เรื่องทะลวง 3 อุปสรรค ยกเลิกคนไทยกรอกใบ ตม.6แก้ปัญหาความล่าช้าผ่านเข้าเมือง เอาใจไอเคโอ! ให้อำนาจสถาบันการบินพลเรือนห้ามบริษัทที่อยู่ระหว่างขอใบรับรองเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่บินระหว่างประเทศ พร้อมอนุญาตสร้างสายส่งไฟฟ้าในเขตป่าอนุรักษ์

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ใน 3 เรื่อง เรื่องแรกสำหรับแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มใบ ตม.6 สำหรับการเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่บุคคลต่างด้าวยังต้องกรอกเหมือนเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางที่เป็นคนไทย ซึ่งพบว่ามีปัญหาความล่าช้าในการผ่านเข้าเมือง โดยมีสาเหตุหนึ่งเพราะต้องกรอกใบแบบฟอร์มตม.6 ดังกล่าว
“ในปัจจุบันรัฐบาลมีความมั่นใจว่าฐาน ข้อมูลของคนไทยที่หน่วยราชการต่างๆได้รวบรวมเอาไว้ ทั้งชื่อเสียงเรียงนาม หมายเลขประจำตัว 13 หลัก มีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย จึงให้คนไทยไม่ต้องกรอกใบ ตม.6 เพื่อขจัดปัญหาความล่าช้า และอำนวยความสะดวกให้คนไทย”
ขณะเดียวกัน คสช.ยังมีมติออกคำสั่งตามมาตรา 44 มอบอำนาจของ คสช.ให้สถาบันการบินพลเรือนเป็นผู้พิจารณาไม่ให้บริษัท หรือองค์กรใด ที่เป็นผู้ประกอบการเดินอากาศ ดำเนินการจัดเที่ยวบินระหว่างประเทศช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2560-31 ม.ค. 2561 เพื่อให้สอดรับกับโจทย์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) กำหนดว่า ห้ามผู้ดำเนินการเดินอากาศที่อยู่ระหว่างการตรวจประเมิน เพื่อออกใบรับรองเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ทำการบินระหว่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ไอเคโอต้องการให้ไทยมีมาตรการที่ เด็ดขาดชัดเจน โดยไอเคโอมีกำหนดที่จะมาตรวจมาตรฐานในประเทศไทยช่วงวันที่ 20-27 ก.ย.นี้ คสช.จึงมีมติเห็นชอบที่จะออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับโจทย์ที่ไอเคโอกำหนด
“เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ สถาบันการบินพลเรือน จะเร่งดำเนินการออกใบอนุญาตได้ทันภายในไม่เกิน 31 ม.ค.2561 ซึ่งที่ผ่านมาก็เร่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่หลายบริษัทเกิดปัญหาเมื่อสถาบันการบินพลเรือนตรวจสอบแล้วพบว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงให้กลับไปแก้ไข ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10-12 ราย ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ”
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีแนวคิดที่จะให้ คสช.เป็นผู้กำหนดห้ามบริษัทที่ยังไม่ได้ใบรับรองเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ทำการบินระหว่างประเทศ แต่ในที่สุดที่ประชุม คสช.ก็ตัดสินใจออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้อำนาจกับสถาบันการบินพลเรือนเป็นผู้ใช้อำนาจควบคุมดูแลในส่วนนี้เอง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามในที่ประชุม คสช.ด้วยว่า บริษัท 10-12 รายที่ยังไม่ได้ใบรับรองนั้นมีบริษัทต่างประเทศ รวมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะอำนาจตามกฎหมายจะครอบคลุมเฉพาะบริษัทในประเทศไทยเท่านั้น จึงให้หน่วยงานไปพิจารณารายละเอียดในส่วนนี้ด้วย
นอกจากนี้ คสช.ยังเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ขอเข้าไปดำเนินการจัดสร้างสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก่อนควบคู่ไปกับการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการ ซึ่งจะต้องไปร่างเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมาในขั้นตอนต่อไป โดยกระทรวงพลังงานแจ้งว่ามีความจำเป็นที่จะดำเนินการจัดสร้างสายส่ง เพราะมีโครงการจัดซื้อจัดหาพลังงานไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีประมาณ 13 โครงการที่คิดว่าจะมีปัญหา เพราะจะต้องเดินสายส่งเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่อุทยาน พื้นที่อนุรักษ์ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ
“ที่ผ่านมาในอดีตกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งจะอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการก่อนได้ ส่วนกระบวน การในการขออนุญาตก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามามีกฎกติกาชัดเจนว่า จะต้องดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเข้มข้น หน่วยราชการจึงไม่กล้าที่จะอนุญาตให้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ก่อน จึงมาขอความเห็นชอบจาก คสช.ที่จะอนุญาตให้โครงการจัดทำสายส่ง สามารถเข้าไปดำเนินการจัดทำสายส่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ก่อนควบคู่ไปกับกระบวนการขออนุญาต”
สำหรับสาเหตุที่ต้องรีบร้อนจัดสร้างสายส่งไฟฟ้า เพราะว่าโครงการจัดซื้อจัดหาไฟฟ้า 13 โครงการอาจมีปัญหาถ้าไม่ดำเนินการจัดทำสายส่ง เพราะถ้าโครงการจัดหาไฟฟ้า ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อย พื้นที่ตามแผนดำเนินการจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ไฟฟ้าอาจจะตก ไม่เกิดความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้า และอาจจะต้องถูกปรับ เช่นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึมที่ประเทศลาว หรือโครงการจัดซื้อจัดหาไฟฟ้าที่ จ.ภูเก็ต และสตูลที่ต้องเดินสายส่งจากพื้นที่ภาคกลางไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

น่าสนใจ