วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรียนรู้จากวิกฤตของเวเนซุเอลาประชานิยมพาล่มสลาย

คุณจะทำยังไง ถ้าตื่นมาพบว่าข้าวตามสั่งที่เคยซื้อจานละ 40 บาท ตอนนี้ขายจานละ 30,000 บาท!?

และเงินฝาก 300,000 บาทในธนาคาร ที่ตั้งใจจะไว้ดาวน์รถยนต์

กลับมีค่าแค่ซื้อข้าวกินได้ 10 จานเท่านั้น...

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพของคนอดอยากขนาดต้องไปคุ้ยถุงขยะหาของกิน จะเกิดขึ้นแน่หากเรื่องสมมติข้างต้นเป็นจริง


นี่คือแบบจำลองของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ 80,000%

และคาดการณ์ว่าสถานการณ์อาจจะยังเลวร้ายได้ถึงเงินขั้นเฟ้อ 1,000,000%


วิกฤตของเวเนซุเอลาเกิดจากอะไร ทำไมถึงเลวร้ายได้ขนาดนี้ ต้องย้อนกลับไปยาวเลยทีเดียว

- ในช่วงต้นยุค 1900 การค้นพบแหล่งน้ำมันในเวเนซุเอลา ทำให้ประเทศนี้มีการริเริ่มอุตสาหกรรมส่งออกน้ำมัน

- ตลอดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ประเทศเวเนซุเอลากลายเป็นแหล่งน้ำมันหลักของสหรัฐอเมริกาในการทำสงคราม

- มีการค้นพบว่าแหล่งน้ำมันของเวเนซุเอลา คือแหล่งขนาดใหญ่ที่สุดของซีกโลกตะวันตก ซึ่งสามารถใช้ได้อีกนับ 100 ปี

- การเปลี่ยนแปลงสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำมันในเวเนซุเอลา เกิดขึ้นเมื่อปี 1976 เมื่อประธานาธิบดีคาร์ลอส เปเรซ ออกนโยบายยึดธุรกิจพลังงานเอกชน กลับมาเป็นของรัฐ

- จากนั้นตั้งหน่วยงาน Petroleos de Venezuela S.A. เพื่อควบคุมกิจการพลังงานในประเทศทั้งหมด

- อาจจะเป็นไอเดียที่ฟังดูเข้าท่า ยึดแหล่งทำเงินกลับมา เอารายได้เข้ารัฐ จากนั้นหมุนกลับไปยังประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล รวยกันทั้งประเทศแหละทีนี้

- ด้วยการเติบโตของกลุ่มประเทศ OPEC และความต้องการน้ำมันที่พุ่งสูงทั่วโลก ประเทศเวเนซุเอลาร่ำรวยขึ้นมหาศาล

- แต่ถ้าโครงการนั้นเป็นโครงการพวก ยกระดับการศึกษา หรือส่งเสริมสุขภาพ ก็จะช่วยพัฒนาบุคลากรในประเทศ นำความรู้ไปหารายได้เข้าประเทศจากช่องทางอื่นๆ

- แต่รายได้มหาศาลพวกนั้น กลับถูกนำไปใช้กับโครงการโปรยเงิน จนชาวเวเนซุเอลาเริ่มเสพติดการได้เงินสบายๆ โดยไม่รู้ตัว

- เมื่อรัฐบาลหนึ่งทำโครงการประชานิยมแล้วได้ผลตอบรับดี นักการเมืองคนอื่นๆ ก็สรรหานโยบายเหล่านี้ เพื่อหวังคะแนนเสียงของประชาชน

- วิกฤตกำลังเริ่มต้นขึ้นเหมือนมะเร็งร้าย แต่แทนที่จะรักษา พวกเขากลับปล่อยให้ลุกลามไปอีก

- โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลฮูโก้ ชาเวซ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในปี 1999

- เขาริเริ่มโครงการนับพัน ซึ่งทำเพื่อเอาใจฐานเสียงส่วนใหญ่ กลายเป็นโครงการในลักษณะของการแจกเงินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น..

- โครงการบ้านพักราคาถูก ซึ่งเป็นการสร้างบ้านราคาต่ำกว่าท้องตลาด และโครงการร้านค้ารัฐบาลขายสินค้าถูกกว่าทุน แต่อยู่ได้เพราะมีเงินจากน้ำมันมาอุดหนุน

- ผลกระทบตามมาทันที เมื่อร้านค้ารัฐบาลขายของถูก ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร จนมีหลายกิจการต้องปิดตัวไป หรือถูกรัฐเข้าควบคุมเพื่อเอามาผลิตของขายเอง

- การตรึงราคาสินค้าบางตัว ทำให้ผู้ผลิตไม่เอามาขายเพราะจะขาดทุน ขณะที่คนซื้อก็อยากได้ จึงเกิดการเอาไปซื้อขายใน "ตลาดมืด" ด้วยราคาที่แท้จริง

- การกำหนดค่าเงินต่างประเทศเอง ส่งผลให้สินค้าในท้องตลาดไม่สะท้อนความเป็นจริง แถมยังเกิดการขาดแคลนเงินสกุลต่างประเทศ จนคนต้องไปแลกกันใน "ตลาดมืด" เช่นกัน

- การอุดหนุนราคาพลังงาน จนคนในประเทศใช้เผาผลาญอย่างสิ้นเปลือง เพราะต่อให้ใช้มากเพียงใด ก็จ่ายเงินซื้อพลังงานไม่ต่างจากได้ฟรี

- นี่เป็นเพียงแค่นโยบายบางส่วนที่ในรูปแบบสังคมนิยมและประชานิยมสุดขั้ว จากกว่า 1,000 โครงการของรัฐบาลชาเวซ

- ส่งผลให้ชาเวซกลายเป็นเทพเจ้าของชาวเวเนซุเอลา แต่แท้จริงแล้วเขากลับเป็นคนสร้างเนื้อร้ายในประเทศไว้เช่นกัน

- ประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมนิยมมากขึ้น หันหน้าหนีจากอเมริกา ผูกมิตรกับทางฝั่งจีนและรัสเซีย


- รัฐบาลชาเวซเหมือนจะรู้ตัวว่าไม่สามารถยกเลิกนโยบายอะไรได้เลย และปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลหลายชุดร่วมกันก่อไว้ตั้งแต่ยุค 1970 ก็เริ่มส่งผล

- เมื่อกิจการน้ำมันของ Petroleos de Venezuela S.A. ประสบภาวะขาดทุน จากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ (ลองนึกว่าเป็นกิจการรัฐ เงินเดือนสูง สวัสดิการดี ใครๆ ก็อยากใช้เส้นยัดลูกหลานตัวเองเข้าไป)

- เวเนซุเอลาต้องกู้เงินจากจีนและรัสเซีย เพื่อมาชดเชยส่วนที่ขาดทุนไป

- แทนที่จะยกเลิกนโยบายบางตัวที่เป็นปัญหา เพราะถ้าเลิกโครงการ คนก็จะไม่พอใจ ออกมาประท้วง คะแนนเสียงก็จะตก


- ปี 2013 นายชาเวซเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โดยเลือกนายมาดูโร่ ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

- ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 ทำให้รายได้ของเวเนซุเอลาที่ผูกกับน้ำมันแทบจะ 100% ยิ่งแย่ลงไปใหญ่

- สถานะของผู้นำตอนนี้ ไม่เหมือนกับนายชาเวซอีกแล้ว เขาไม่ใช่เทพเจ้าในสายตาของใครหลายๆ คน ซ้ำร้ายกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นของประเทศ

- ปี 2015 พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1999

- แต่ศาลเวเนซุเอลา กลับมีมติสั่งให้นายมาดูโร่อยู่ในตำแหน่งต่อไป

- เกิดการประท้วงทางการเมืองในประเทศ บานปลายรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน


- ปี 2016 ราคาน้ำมันยังคงลดลงต่อเนื่อง

- สถานการณ์ภายในประเทศก็วิกฤตถึงขีดสุด หน่วยงานรัฐแทบจะไม่มีเงินมาจ่ายเงินเดือนคนงาน ถึงขั้นต้องให้หยุดงาน โดยมาทำแค่สัปดาห์ละ 2-3 วัน

- ระบบเศรษฐกิจของประเทศแทบหยุดชะงัก คนในประเทศก็แทบจะทำอะไรไม่ได้

- ภาคการผลิตก็เป็นรัฐคุมไว้หมดแล้ว คนทำเกษตรก็กลายเป็นที่ดินของรัฐ พอรัฐถังแตกไม่จ้างงาน แล้วพวกเขาจะทำไปทำไมกันล่ะ!?


- การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศเวเนซุเอลามีคนแค่ 2 ชนชั้น ก็คือคนรวยมาก และคนจนที่ไม่มีอันจะกิน (ซึ่งแรงงานชนชั้นกลาง กลายมาเป็นกลุ่มหลังแทบจะทั้งหมดแล้ว)

- รัฐบาลมาดูโร่ พยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อหลายวิธี ทั้งการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ 30 เท่า ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

- ทั้งการสร้างเงินสกุลใหม่ที่มีค่ามากกว่าเงินสกุลเดิม 100,000 เท่า เพื่อให้คนไม่ต้องขนเงินเป็นกระสอบไปซื้อของ

- ด้วยความที่เขาไม่อยากเป็น "ประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ 50 ปีของเวเนซุเอล่า ที่ตัดโครงการประชานิยมทิ้ง"

ทำให้รากที่ฝังลึกของปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่ถูกแก้ออกไป...


ปัจจุบัน คนจนในเวเนซุเอล่า ต้องเลือกระหว่าง จะเป็นพวกแบมือขอ หรือจะเป็นพวกดิ้นรนไปตายเอาดาบหน้า

คนเวเนซุเอล่า 3-4 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 32 ล้านคน ทำการอพยพลี้ภัยไปยังประเทศข้างเคียงอย่างบราซิล หรือโคลัมเบีย


ซึ่งผู้อพยพก็จะมีทั้งคนที่หวังมาสร้างตัวในประเทศใหม่ พวกนี้ไม่สร้างปัญหาอะไร แต่ก็มีทั้งคนที่เข้าไปก่อความเดือดร้อนในประเทศปลายทางด้วย

ในบราซิล ถึงขั้นมีการตั้งกลุ่มไปทำลายบ้านพักของผู้อพยพชาวเวเนซุเอลา หลังจากที่มีข่าวว่าผู้อพยพบางคนไปปล้นร้านค้าของชาวบราซิล

ขณะที่ตามท้องถนนในบางเมือง ก็มีผู้อพยพเร่ร่อนชาวเวเนซุเอลา ที่ไม่มีแม้กระทั่งที่ซุกหัวนอนนับพัน


ปัญหาผู้อพยพชาวเวเนซุเอลา กลายเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก เป็นรองเพียงปัญหาผู้อพยพชาวซีเรียจากตะวันออกกลางไปยุโรปเท่านั้น

โดยที่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและการประท้วงในเวเนซุเอลา ก็ไม่ได้มีท่าทีจะทุเลาลงแต่อย่างใด


เทียบกับข้าวตามสั่งจานละ 30 บาท ซึ่งกลายเป็น 30,000 บาทตามที่ผมเขียนไว้ในบทความ

กำลังถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นจานละ 300,000 บาทในปีนี้

ลองคิดดูสิครับ ว่าถ้าตัวเราหรือประเทศเราต้องเจอกับภาวะวิกฤตขนาดนี้ เราจะตัดสินใจเอาตัวรอดอย่างไร!?

ร่วมแบ่งปันความเห็นได้ในคอมเม้นต์เลยครับ....









ที่มา:

http://www.investerest.co/economy/venezuela-crisis/

www.aljazeera.com/indepth/features/2017/04/venezuela-happening-170412114045595.html

www.facebook.com/nongposamm/posts/1824701557796259

www.bbc.com/thai/international-40814182

อ้างอิง
https://www.facebook.com/ABillionaireMindset/photos/a.332420487199698/528066780968400/?type=3&theater

youtube

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

น่าสนใจ