วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

4.สรุปผลการอภิปรายเรื่องแนวทางประชาธิปไตยในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย

สรุปผลการอภิปราย เรื่อง "แนวทางประชาธิปไตยในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย"

ณ ห้องประชุม 203-206 อาคารรัฐสภา 2 ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2537
ผู้อภิปราย ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์
ผู้ดำเนินการอภิปราย รองศาสตราจารย์ ดร.จิรโชค วีระสัย

ศาสตราจารย์ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ เรื่อง  "แนวทางประชาธิปไตยในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย" ว่า ไม่มีความแน่นอน เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การยุบสภา การปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นต้น แม้แต่ในปัจจุบัน(2537)ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญ กล่าวไว้อย่างชัดเจน 

การแก้ปัญหาบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทยนั้น ต้องแก้ปัญหาที่ประชาชน เพราะประชาชนจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้ จะดีหรือไม่นั้น จะไม่คำนึงมากนัก ดังนั้น จึงควรแก้ไขทัศนคติของประชาชนให้มองคนที่จะมาเป็น ส.ส. ไม่ใช่มองเพียงการพึ่งพาอาศัยในระดับท้องถิ่นส่วนตัวเป็นหลัก สถาบันต่างๆ จึงควรจะช่วยกันแก้ไขปลูกฝังทัศนคติใหม่ที่ต่างไปจากอดีต 

อีกประการหนึ่งคือการแก้ไขที่รัฐสภา เนื่องจากผู้ที่มีเงินหรือร่ำรวยมีอยู่เพียงไม่กี่คนสามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้ กรณีนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ฉะนั้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน จึงควรรวมกันแก้ไขในสิ่งนี้ด้วย ประการที่สาม คือ การเลือกคนที่มีภาวะผู้นำ มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งผู้นำที่ดีจะต้องประกอบด้วย จริยธรรม 10 ประการ ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตใจใฝ่ในจริยธรรม กล้าตัดสินใจในทางที่ถูกที่ควร หากเป็นไปได้ควรมีการสร้างโรงเรียนฝึกภาวะผู้นำอย่างเช่นในกรีกโบราณ

ท่านได้ให้แนวคิดเพิ่มเติมว่า สถาบันที่ช่วยส่งเสริมความรู้ประชาธิปไตยได้ดี คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา และสถาบันสื่อมวลชน

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ท่านได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันว่า
ควรปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแต่เดิมนั้นการปกครองจะอยู่ในอำนาจของชนชั้นปกครองเท่านั้น ประชาชนไม่มีโอกาสได้ปกครองประเทศ แต่ประชาชนจะถูกเกณฑ์มาเพื่อรับใช้คนที่เป็นเจ้านายโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้อำนาจขึ้นอยู่กับประชาชน ถึงกระนั้นอำนาจที่แท้จริงก็คือ การแก่งแย่งกันระหว่างบุคคลที่เป็นเจ้านายเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ประชาชนยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเป็นผู้มีอำนาจการเมือง และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาธิปไตยในทุกระดับ

ท่านยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์เพื่อจัดรายการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านให้กว้างขวางขึ้น อันจะทำให้หลายฝ่ายได้ทราบข้อเท็จจริงของประชาธิปไตยในเมืองไทย และสามารถนำไปแก้ไขได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น


ฐานิกา บุษมงคล อ้างอิงจากหนังสือเอกสารทางวิชาการ "การสืบสานและพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองไทย" จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

น่าสนใจ